ความเห็นและความรู้
โดยยังตรวจไม่ละเอียดพอ ผมขอด่วยสรุปว่า คำว่า "ความรู้" ในภาษาไทยเป็นคำที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ที่เราเรียกว่า "ความรู้" ในปัจจุบันนั้น แต่ก่อนเขาเรียกว่า "วิชา" (หรือวิทยา ซึ่งความหมายไม่ตรงกับคำนี้ในปัจจุบัน) เช่นเป็นผู้ทรงวิทยาคุณ
น่าสังเกตนะครับว่า "วิชา" ที่รากบาลี ซึ่งหมายถึงความรู้ในทางธรรมหรือโลกุตรธรรม เช่นรู้อะไรที่รายการเกมในทีวีชอบถามไม่ใช่ความรู้อย่างนั้น เพราะถึงรู้ไปก็ไม่ทำให้เกิดคลายกำหนัด (นิพพิทา) แต่อย่างไร
ฉะนั้น คนไทยแต่ก่อนจึงรู้อยู่แล้วว่าความรู้ไม่เคยอยู่ลอยๆ หากมีฐานอยู่กับโลกทรรศน์ชนิดหนึ่งเสมอ แล้วก็ยกย่องเฉพาะความรู้ที่มีฐานอยู่กับโลกทรรศน์ที่โน้มไปทางธรรม จะปกครองประเทศ, จะครองเรือน, จะเป็นข้าราชการ หรือความรู้อะไรก็ตาม ถ้าไม่มีฐานอยู่กับธรรมหรือโลกุตรธรรม ท่านก็ไม่ยกย่องว่าเป็นความรู้
แต่พอมาคบฝรั่งมากขึ้นในสมัยหลัง จะแปลคำว่า knowledge อย่างไรดี เพราะฝรั่งในช่วงที่มาคบกับเรานั้นเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงนอกตัวเรา นักวิชาการหรือนักปราชญ์สามารถใช้สติปัญญาเข้าไปสัมผัสความจริงที่แขวนไว้ข้างๆ ดวงจันทร์ข้างนอกโน่นได้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับปรมัตถธรรมหรือความเห็นอะไรของใครทั้งนั้น ฉะนั้น จะแปล knowledge ว่า "วิชา" อย่างเดิมจึงไม่ตรงนัก ต้องสร้างคำใหม่ว่า "ความรู้" ขึ้นมา
(อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ แปล "ความรู้" ว่า "คือความที่รู้วิชาการต่างๆ นั้น")
ความรู้อย่างนี้แหละครับที่ฝรั่งเชื่อว่าบริสุทธิ์เพราะไม่มีความเห็นเจือปน ความรู้จึงแน่นอนตายตัว และย่อมมีอยู่หนึ่งเดียว ในขณะที่ความเห็นเอาแน่ไม่ได้ แล้วแต่จะเป็นความเห็นของใคร
น่าสนใจเหมือนกันนะครับที่จะรู้ว่า knowledge ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า knowlechen ของภาษาอังกฤษสมัยกลางซึ่งแปลว่า acknowledge คือรับรู้ เหมือนมีอะไรอยู่แล้ว เราไปรับรู้สิ่งนั้น
ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพื่อจะบอกว่า ถึงจะเรียกมันให้ไพเราะว่าฐานคิด, โลกทรรศน์, หรือกระบวนทรรศน์ อะไรก็ตาม ความรู้ก็คือความเห็นอย่างหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็งอกออกมาจากความเห็นเท่านั้น
แต่เพราะเชื่อตามฝรั่ง (สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20) เราจึงแยกความรู้และความเห็นออกจากกันอย่างเด็ดขาด ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา ในขณะที่ความเห็นเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับแจกมาฟรีๆ ด้วยเหตุดังนั้นความรู้จึงมีสถานะสูงกว่าความเห็น มิได้แต่กับคนที่ได้รับการศึกษาจนบรรลุถึงความรู้แล้วเท่านั้น คนที่ไม่ได้รับการศึกษา (หรือถึงได้รับแต่ไม่มีคุณภาพพอ) ก็มีได้แต่ความเห็น
เห็นได้ชัดนะครับว่า นิยามของความรู้แบบนี้เป็นเรื่องของอำนาจโดยตรง นั่นคือการยกอำนาจให้แก่คนที่อ้างว่าสามารถบรรลุถึงความรู้แล้ว (แม้เพียงบางด้าน) ในขณะที่รอนอำนาจและสิทธิของคนที่ไม่สามารถทำให้คนอื่นเชื่อว่าตัวได้บรรลุถึงความรู้ (ซึ่งมักเป็นคนทั่วไป-คนส่วนใหญ่)
ข้อสรุปที่ไม่ต้องประกาศออกมาก็คือ คนมีความรู้มีประโยชน์มากกว่า และมีความชอบธรรมที่จะมีอภิสิทธิ์ ทั้งทางเปิดเผยและไม่เปิดเผย
อย่างไรก็ตาม ความรู้ไม่ได้ลอยแขวนอยู่ข้างดวงจันทร์ภายนอกโน่น หากเป็นคำอธิบายที่ถูกมนุษย์เราสร้างขึ้นมาเอง และในกระบวนการสร้างความรู้นั้น เอาเข้าจริงก็เริ่มต้นขึ้นที่ความเห็นก่อนทั้งนั้น (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที) เพราะในการตอบปัญหาหนึ่งๆ เราต้องเริ่มที่ความเห็นว่าแนวทางหาคำตอบน่าจะไปในทิศทางอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจึงลงมือค้นหาข้อมูลวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล ในที่สุดอาจกลับพบว่าความเห็นที่ใช้เริ่มต้นค้นหาคำตอบนั้นไม่เป็นสับปะรด ต้องทิ้งไป ตั้งความเห็นใหม่ ทำซ้ำอีก จนกว่าจะได้คำตอบอันน่าพอใจแก่ตนเอง
ถ้าไม่มีความเห็นเป็นแนวทางมาแต่ต้น แม้แต่จะเก็บรวบรวมข้อมูลยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีทางจะรู้ว่าข้อมูลไหนเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการจะหาคำตอบ ยังไม่พูดถึงการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนได้ข้อสรุปบางอย่างออกมา ก็ล้วนตกอยู่ใต้การกำกับของความเห็นทั้งนั้น
แม้แต่จะตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ก็มีความเห็นกำกับมาตั้งแต่ต้นเหมือนกัน ดังที่เขาเรียกกันว่า "กระบวนทรรศน์" ซึ่งเป็นความเห็นล้วนๆ เลยก็ว่าได้
ที่เรารู้สึกว่าความรู้มักจะ "จริง" เสมอนั้น ก็เพราะถ้าเราเริ่มต้นแสวงหาความรู้จากความเห็นทำนองเดียวกัน โอกาสที่คำตอบจะออกมาคล้ายกันหรือตรงกันเป๊ะมักเกิดขึ้นเสมอ เพราะความเห็นซึ่งเป็นตัวสร้างคำถามนั้นกำกับกระบวนการแสวงหาความรู้นับตั้งแต่เก็บข้อมูลขึ้นไปจนสรุปคำตอบเป็นอันเดียวกัน
ความรู้กับความเห็นจึงแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด
ผมควรกล่าวด้วยว่า แม้แต่ความเห็นก็ไม่ได้อยู่ลอยๆ เหมือนกัน นอกจากเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูและประสบการณ์ของแต่ละคนแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีส่วนกำหนดฐานคิดของเราอย่างสำคัญ ผมขอเรียกว่า "อคติของอำนาจ) นั่นก็คือความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นนั้น จะใช้ไปทำอะไรและเพื่อใคร
"อำนาจ" (ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม ทั้งในชาติหรือระหว่างชาติ) ย่อมทำทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะให้การสร้างความรู้นั้นเป็นประโยชน์แก่การจรรโลงไว้ซึ่ง "อำนาจ" การครอบงำทางตรงนั้นเข้าใจง่าย เช่นการกำหนดเงื่อนไขของทุนวิจัยเป็นต้น แต่การครอบงำทางอ้อมนี่สิครับที่ยากจะหลุดรอดไปได้ จนกว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี เพราะมันชักจูงให้เราแสวงหาความรู้เพื่อรับใช้ "อำนาจ" โดยไม่รู้สึกตัว
เช่นในเมืองไทยนั้นมีงานวิจัยเพื่อให้ความรู้ที่ได้มาสนับสนุนการส่งออกมากมาย ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่ากระบวนการส่งออกของไทยนั้นตั้งอยู่บนการเอารัดเอาเปรียบชาวไร่ชาวนาและกรรมกรมากมายเหมือนกัน แต่งานวิจัยที่จะเพิ่มพลังการต่อสู้ของคนถูกเอารัดเอาเปรียบกลับแทบจะไม่มีเอาเลยเป็นต้น
ผมเชื่อว่าความเข้าใจว่าความรู้กับความเห็นแยกจากกันไม่ได้นี้มีความสำคัญในการศึกษามาก จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของการศึกษาทีเดียว เพราะการศึกษาไม่ควรทำให้เราได้เรียนรู้แต่ตัวความรู้ (อะไรคืออะไร) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนให้ลึกไปถึงระดับความเห็นซึ่งเป็นฐานคิดให้แก่การเกิดขึ้นของความรู้นั้นๆ ด้วย
ที่พูดกันว่านักเรียนไทยไม่รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ก็เพราะเราไม่เคยสอนความรู้ให้ลึกไปถึงระดับความเห็น ถ้าไม่เข้าใจว่าความรู้นั้นๆ เกิดจากความเห็นอะไร ก็วิจารณ์ได้แค่ระดับตรวจสอบข้อมูลเท่านั้น มองไม่เห็นช่องทางที่จะสร้างคำอธิบายที่แตกต่างหรือเป็นทางเลือกอื่น (ซึ่งอาจดีกว่าหรือเลวกว่าก็ได้)
ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า ความรู้กับความเห็นนั้นต่างกัน อย่างน้อยความรู้ก็เป็นความเห็นที่มีการตรวจสอบมาระดับหนึ่ง และมีกระบวนการที่ถูกคนอื่นตรวจสอบได้ แต่ความรู้ไม่ใช่ความจริง ความรู้ไม่ได้ปลอดจากอคติ (ซ้ำยังสร้างกำแพงขวางกั้นการตรวจสอบอคติไว้แน่นหนากว่าความเห็นเสียด้วย)
เราไม่ชอบให้นโยบายสาธารณะเกิดจากความเห็นเพียงอย่างเดียวแน่ แต่ไม่ใช่เพราะความเห็นด้อยกว่าความรู้ หากเป็นเพราะนักการเมืองและข้าราชการผู้วางนโยบายสาธารณะเป็นอำนาจนิยมต่างหาก พวกเขาผลักดันความเห็นของตัวด้วยอำนาจและความรุนแรงเสมอ ทำให้ไม่อาจตรวจสอบความเห็นของเขาซึ่งทำง่ายอยู่แล้วเพราะถูกขัดขวาง
ผมคิดว่าในสังคมประชาธิปไตย นโยบายสาธารณะควรเกิดขึ้นจากการที่ทุกคน (รวมข้าราชการและนักการเมือง) สามารถเสนอความเห็นได้เท่าๆ กัน ฉะนั้นทุกความเห็นจึงอาจถูกตรวจสอบได้เท่ากันด้วย
กระบวนการตรวจสอบนี่แหละที่จะทำให้เกิดการพัฒนาความเห็นขึ้นมาเป็นความรู้ ซ้ำเป็นความรู้ที่หลากหลายเสียด้วย เช่นถ้าความเห็นเรื่องการจัดการน้ำด้วยวิธีอันหลากหลายไม่ถูกการใช้อำนาจย่ำยีบีฑาอย่างที่ผ่านมา ป่านนี้นอกจากสังคมไทยจะมีความรู้ในด้านการจัดการน้ำซึ่งเรียนมาจากฝรั่งแล้ว ยังจะเกิดความรู้ที่มีฐานอยู่ที่ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งจัดการน้ำในภูมิประเทศและภูมิอากาศบ้านเราได้เก่งกว่าฝรั่งเสียอีก มีความรู้หลากหลายที่จะคัดง้างกัน และสร้างสมดุลแก่กันและกันขึ้น
เช่นเดียวกับที่เชื่อว่าความรู้ไม่ทำให้ทะเลาะกัน ในขณะที่ความเห็นมีแต่ก่อให้เกิดการทะเละกัน ผมไม่เชื่ออย่างนั้น ความรู้ก็ทำให้ทะเลาะกันได้เหมือนกัน อย่างเช่นการใช้หรือไม่ใช่พืชจีเอมโอในการเกษตรนั่นเป็นไร แต่การทะเลาะไม่แปรเป็นการถกเถียง เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่แบความรู้และกระบวนการสร้างความรู้ของตนออกมาให้แก่การตรวจสอบต่างหาก
ความขัดแย้งในเชิงทะเลาะจึงเกิดจากกติกาความสัมพันธ์ของสังคมไทยปัจจุบันต่างหาก โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง อำนาจนิยมกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่มีการศึกษา แม้แต่ในหมู่นักวิชาการเอง การถกเถียงก็มักถูกยกระดับขึ้นมาเป็นการทะเลาะอยู่เสมอ
ถึงแม้ผมยอมรับความแตกต่างของความรู้และความเห็น แต่ผมก็ยังอยากยืนยันอยู่นั่นเองว่าสองอย่างนี้แยกขาดจากกันไม่ได้ และไม่ได้มีสถานะที่เหลื่อมล้ำกัน การไปเน้นที่ความต่าง กลับจะทำให้เกิดการปิดปากคนหมู่มาก ในขณะที่ "อำนาจ" สามารถตกแต่งความเห็นให้กลายเป็นความรู้ได้ง่ายมาก ก็เราไม่เคยขาดนักวิชาการในตลาดสำหรับซื้อหาไว้ใช้สอยไม่ใช่หรือ
ผมไม่คิดว่านักวิชาการแตกต่างจากคนในอาชีพอื่น เขาก็ใช้ความเห็นเหมือนคนอื่น เพียงแต่อาชีพของเขาคือการสร้างความรู้ขึ้นมาจากความเห็น เขาต้องวิพากษ์ฐานคิดของความรู้ ปรับปรุงฐานคิดหรือความเห็นนั้นให้ดีขึ้น หาข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์จนสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ขึ้นมา แล้วก็เสนอในลักษณะที่ตรวจสอบได้เพื่อให้คนอื่นพิจารณา
ไม่ต่างจากช่างตัดผมหรือคนเลี้ยงไก่ คือผลิตอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เท่านั้นเองจริงๆ
ผมมีอะไรนอกเรื่องแต่สัมพันธ์กับเรื่องที่คุยมานี้อยู่ด้วย นั่นก็คือ เรื่อง "ความรู้คู่คุณธรรม" ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษา ผมได้ยินคนพูดเรื่องนี้เหมือนเป็นสองอย่างที่แยกจากกันได้ คือความรู้อย่างหนึ่งและคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง
อันที่จริงคุณธรรมเป็นฐานคิดหรือความเห็นชนิดหนึ่ง (เช่นการฆ่าเป็นบาป หรือการฆ่าทำให้สังคมตั้งอยู่ไม่ได้) ฉะนั้น ความรู้ที่เกิดจากการใช้คุณธรรมเป็นฐานคิด จึงมีลักษณะอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจาก "ความรู้" ที่เรานำเข้าจากเมืองฝรั่ง เพราะคุณธรรม (ดี-ชั่ว) เป็นสิ่งที่ต้องตัดออกไปจากฐานคิดในการสร้าง "ความรู้" แบบนั้น
ฉะนั้น "ความรู้คู่คุณธรรม" ที่แท้จริงจึงนำมาซึ่งการสร้าง "ความรู้" อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ายังเป็นที่ต้องการของนักการศึกษา, นักธุรกิจ, ข้าราชการ และนักการเมือง อยู่จริงหรือ ?
<< Home