Monday, May 09, 2005

การเผชิญกับโลกแห่งปัจเจก

ผมเพิ่งเข้ากรุงเทพฯ มา นอกจากธุระที่ต้องไปทำแล้ว สิ่งที่ตั้งใจจะเข้าไปจ้องดูในกรุงเทพฯ คือกางเกงเอวต่ำครับ

ก็เขาลือกันเหลือเกิน ทั้งด้วยปากและด้วยสื่อว่า มันต่ำจนจะถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมไทยให้โค่นลง ขนาดบางรัฐของอเมริกายังออกกฎหมายเอาผิดกับเอวผู้หญิงเลย เสียแต่ศาลสูงไม่เล่นด้วยเท่านั้น

ผมไม่ได้เห็นขอบเอวกางเกงหรอกครับ ผ่าไปดูไอ้ที่อยู่เหนือเอวเสียจนลืมไป

อันที่จริงที่ผมดูๆ นั่นจะว่าดูแต่ที่อยู่เหนือขอบเอวกางเกงก็ไม่จริงทีเดียวนัก ผมก็ดูเลยขึ้นมา และเลยลงไปเหมือนผู้ชายอื่นแหละครับ และพบว่ากางเกงเอวต่ำนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของการแต่งกายที่มีจุดมุ่งหมายอันหนึ่งอันเดียวกัน

จุดมุ่งหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นคืออะไร ผมขอเรียกอย่างมัวๆ ว่าต้องการให้ดูเซ็กซี่ครับ

เสียแต่ว่าผมไม่รู้ว่าเซ็กซี่แปลว่าอะไรแน่ เพราะเคยคุยกับเพื่อนฝูง ต่างให้ความหมายไม่สู้จะตรงกันนัก ฉะนั้น ผมขอใช้คำนี้ตามความหมายของผมเท่านั้น

นั่นก็คือ มุ่งประสงค์จะให้ร่างกายของตัวน่าใคร่

แต่ฟังให้ดีนะครับ ความน่าใคร่นั้นเป็นเพียงหนึ่งในคุณสมบัติของตัวที่อยากแสดงต่อคนอื่น (ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม) แต่ไม่ใช่อย่างเดียว ไม่มีใครในโลกนี้หรอกครับที่อยากมีคุณสมบัตินี้เพียงอย่างเดียว ไม่เชื่อก็ไปบอกคนรักของคุณสิครับว่า ที่คุณรักเธอก็เพราะคุณสมบัติข้อนี้ข้อเดียวแหละ แล้วดูว่าจะโดนตบหรือไม่

ผมไม่ทราบว่า การแสดงคุณสมบัติข้อนี้เป็นวัฒนธรรมหรือธรรมชาติ ในสัตว์นั้น คุณสมบัติข้อนี้แสดงออกให้เพศตรงข้ามรับรู้ในฤดูติดสัด บางชนิดเป็นกลิ่น, บางชนิดเป็นสีขน, บางชนิดเป็นเสียงร้อง ฯลฯ เป็นต้น

แต่ในคน นักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าก็แสดงคุณสมบัติความพร้อมในการร่วมเพศทางร่างกายเช่นกัน แต่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ซึ่งถูกวัฒนธรรมครอบงำเสียจนชาๆ ไปมาก อาจจับไม่ได้ (เช่นกลิ่นที่ต่างจากเคย) ที่ผมไม่ทราบแน่ก็คือ มนุษย์จึงใช้การตกแต่งร่างกายเข้ามาช่วยด้วยหรือไม่

สร้อยเปลือกหอยไปจนถึงลูกปัด หรือกำไลสำริดของมนุษย์โบราณนั้น นอกจากบอกสถานะทางสังคมแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำหรับแสดงความน่าใคร่ของผู้ใช้หรือไม่ อันนี้ผมไม่ทราบครับ ฉะนั้น จึงไม่ทราบว่าแฟชั่นเสื้อผ้า, น้ำหอม, เครื่องประดับ, ฯลฯ ที่ผู้หญิงนิยมใช้ในปัจจุบันนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผู้ใช้เซ็กซี่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าความน่าใคร่เป็นส่วนหนึ่งของการอวดคุณสมบัติของมนุษย์ต่อคนอื่นมาแต่โบราณแล้ว จะเป็นด้วยธรรมชาติหรือวัฒนธรรมก็ตาม เพียงแต่ว่าในสมัยโบราณอาจไม่ใช่คุณสมบัติที่เด่นสุดสำหรับอวดเพศตรงข้ามเท่านั้น ความเรียบร้อย, ความฉลาด, ฐานะทางการเงิน, ความเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล ฯลฯ อาจสำคัญกว่า

อย่างพวกที่ต่อต้านกางเกงเอวต่ำยกขึ้นพูดเสมอว่า ลูกผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยต้องไม่เอาเนื้อหนังมังสามาอวด หรือพูดอย่างผมก็คือ ต้องไม่ดูน่าใคร่ (ซึ่งผมไม่เชื่อนะครับ) แต่ต้องอวดคุณสมบัติอื่นๆ อย่างที่วัฒนธรรมไทยยกย่อง เช่น ความเป็นกุลสตรี, ความเรียบร้อย, ความมีมารยาท, ความรักนวลสงวนตัว, ฯลฯ

ผมคิดว่าน่าสนใจที่พวกต่อต้านกางเกงเอวต่ำใช้สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทยเป็นบรรทัดฐานในการต่อต้าน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น วัฒนธรรมไทยก็เหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลกนี้ ย่อมไม่หยุดนิ่ง แต่แปรเปลี่ยนไปเรื่อยตามเหตุปัจจัยที่แวดล้อม วัฒนธรรมไทยที่หยุดนิ่งเป็นเพียงพื้นที่ซึ่งผู้หญิงมวยโตๆ กันเอาไว้ให้ตัวเองได้เล่นเป็นกรรมการในคณะกรรมการทางวัฒนธรรมของหน่วยราชการต่างๆ เท่านั้น


ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันความน่าใคร่กลายเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญสำหรับไว้อวดมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เพศหญิง (แต่ขอย้ำนะครับว่าไม่ใช่คุณสมบัติอย่างเดียวอยู่นั่นเอง) ฉะนั้น ถ้าเอาวัฒนธรรมไทยเป็นเกณฑ์ กางเกงเอวต่ำนั่นแหละถูกต้องตรงตามวัฒนธรรมไทยเป๊ะอยู่แล้ว เพราะหลังจากโชว์ความน่าใคร่ด้วยเสื้อเอวลอย, สายเดี่ยว, เกาะอกมานานแล้ว มันก็ชักจะจืดจนไม่ดึงดูดอารมณ์ความรู้สึกอีกแล้ว ก็ตองหาสิ่งใหม่มาเสริม กางเกงเอวต่ำเข้ามาในจุดที่พอดีๆ ของการแสวงหาความน่าใคร่

ผมจึงไม่รู้สึกวิตกกังวลอะไรกับกางเกงเอวต่ำ แล้วอีกไม่นานก็คงจะเปลี่ยนไปอีก ส่วนจะเปลี่ยนไปในทางเปิดมากขึ้นหรือปิดมากขึ้นนั้น ผมทำนายไม่ถูก เพราะความรู้สึกว่าน่าใคร่นั้นเป็นธรรมารมณ์อย่างยิ่ง ไม่ได้มีเหตุผลแบบเส้นตรง (Iinear) หรอกครับ กลับตาลปัตรก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ

แต่ปัญหาที่น่าวิตกแก่ผมมากกว่าก็คือ ในบรรดาเด็กผู้หญิงที่นุ่งกางเกงเอวต่ำนั้น จะมีสักกี่คนที่นุ่งเพราะอยากจะแสดงความน่าใคร่ของตนเอง จะถึงครึ่งหนึ่งไหม ?

หรือส่วนใหญ่แล้วนุ่งเพราะกลัวคนอื่นจะหาว่าเชย, เพื่อนไม่ยอมให้ร่วมแก๊ง, กลัวความโดดเดี่ยวเพราะไม่เหมือนคนอื่น ฯลฯ อะไรทำนองนี้

อย่างน้อยวัยรุ่นสองสามคนที่ผมมีโอกาสคุยด้วย ยืนยันว่าไม่ได้นึกถึงความน่าใคร่แต่อย่างใดทั้งสิ้น หากเห็นเป็นแฟชั่นที่เก๋ดี และใครๆ เขาก็นุ่งกัน ขนาดต้องนุ่งปิดๆ บังๆ ออกมาจากบ้านก็ยังยอม

ตรงนี้สิครับที่ผมเห็นว่าน่าวิตกกว่าวัฒนธรรมรักนวลสงวนตัว ซึ่งเคยมีจริงในวัฒนธรรมไทยหรือไม่ก็น่าสงสัยอยู่เพราะการยอมต่อแรงกดดันของสังคม (สังคมของเขานะครับ ไม่ใช่สังคมของคุณพ่อคุณแม่หรือคุณยาย) อย่างไม่ต่อรองเลยนั้นต่างหาก ที่เป็นปัญหาต่อวัยรุ่นไทยมากกว่า ช้ำยังจะเป็นปัญหาสืบเนื่องไปตลอดชีวิตของเขาด้วย

และผมออกจะสงสัยว่า แม้วัยรุ่นทั้งโลกจะแสวงหาบทบาทของตัวจากกลุ่มเดียวกันหรือที่ฝรั่งเรียกว่า peer group (คือเพื่อนฝูง, คนในวัยเดียวกัน, ดาราซึ่งคนในวัยเดียวกันยอมรับ ฯลฯ) แต่วัยรุ่นไทยจำนนต่อสังคมหรือคนในกลุ่มทางสังคมของตนมากกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แฟชั่นทุกชนิด, ความนิยม, ความคลั่งไคล้, อนุวัฒนธรรม (sub-culture) มีอิทธิพลแก่วัยรุ่นไทยมากกว่าวัยรุ่นของอีกหลายสังคม

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ผมคิดว่าทั้งหมดนี้มาจากการที่สังคมไทยหรือครอบครัวไทย ก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมปัจเจกชนนิยมอย่างไม่เตรียมตัว หรือไม่พร้อม เพราะไม่มีการพัฒนาแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้รับกับกระแสปัจเจกชนนิยมได้อย่างสัมฤทธิผล


ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบปัจเจกชนนิยม แต่กระแสนี้ก็หลั่งไหลเข้ามาหาเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, การเมือง, กฎหมาย, ฯลฯ ที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวที่เห็นได้ง่ายๆ นะครับ เช่น กฎหมายสมัยใหม่ ถือเอาปัจเจกเป็นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม ฉะนั้น ลูกไปขโมยของเขา พ่อแม่จึงไม่ต้องรับผิดชอบ ผิดจากกฎหมายโบราณที่ถือว่าครอบครัวและญาติสนิทต้องร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคล

ทุกคนจึงต้องเป็นปัจเจกอยู่ส่วนหนึ่งในชีวิต ส่วนจะมากหรือน้อยในสำนึกนั้นก็แล้วแต่คนไป

การเป็นปัจเจกนั้นไม่ง่ายเท่าไรนะครับ เพราะต้องมีพลังกำกับตัวเองสูงมาก ผมขอเรียกพลังกำกับตัวเองนี้ว่าพลังทางศีลธรรม ซึ่งไม่อาจมาจากคำสั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงของปัจเจกซึ่งไม่มีประเพณีหรือชุมชนคอยกำกับนั้น จำเป็นต้องคิดใคร่ครวญหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามคำสั่งสอนที่ได้รับมาอยู่ตลอดเวลา เพราะประสบการณ์ของคนในสังคมปัจเจกนั้น ไม่เป็นสูตรตายตัวซ้ำเดิมตลอดเวลา มีเงื่อนไขในแต่ละกรณีที่แตกต่างกันอย่างละเอียดอ่อน ไม่อาจใช้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมโดยไม่ใคร่ครวญให้รอบด้านได้

ใครๆ ก็อยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างทั้งนั้น แต่แค่ไหนจึงไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เสียหลักการ ไม่เสียสิ่งอื่นที่มีความสำคัญกว่าหรือเท่ากันสำหรับชีวิต

ยิ่งไปกว่านี้ การไม่ทำตามแรงกดดันก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการตัดญาติขาดมิตร ต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมรอบข้างที่กดดันยอมรับความแตกต่างของตัว นี่ก็เป็นยุทธวิธีที่ต้องใช้ความคิดมาอย่างดีเหมือนกัน

และในทางตรงกันข้าม สังคมปัจเจกที่จะมีความสุขสงบอยู่ได้ ก็ต้องเป็นสังคมที่ยอมรับความแตกต่างของคนอื่นด้วย

การยอมรับความต่าง คือการมองเห็นความดีความงามในความหลากหลายอย่างจริงใจ ไม่ใช่แต่เพียงพูดสรรเสริญความหลากหลายไปตามแฟชั่น ข้อนี้ก็ต้องคิดและจินตนาการถึงเงื่อนไขและสถานการณ์ที่แตกต่างเป็น

ย้อนกลับมาดูว่าครอบครัวไทยได้เตรียมลูกให้เข้าสู่สังคมปัจเจกไว้ดีแค่ไหน ผมค่อนข้างจะรู้สึกว่าไม่ได้ทำ หรือทำในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เช่น พูดเสมอว่าเราไม่สอนให้เด็กคิดเองเป็น แต่มักจะสั่งกฎต่างๆ มาให้ยึดถืออย่างตายตัว พ่อแม่ไทยเองนั่นแหละครับที่สอน

เคยมีงานวิจัยการเรียนรู้ของเด็กไทยที่พบว่า พ่อแม่ไทยนั้นจะสอนลูกเกี่ยวกับสังคมศึกษาและวัฒนธรรมมากที่สุด นั่นก็คือสอนให้เด็กได้รู้กฎเกณฑ์ทางสังคม และความคาดหวังตามอุดมคติในวัฒนธรรมไทย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สอนให้ลูกจำนนต่อสังคมอย่างปราศจากเงื่อนไข เพียงแต่สังคมที่พ่อแม่สอนให้ลูกจำนนนั้นเป็นสังคมในอุดมคติซึ่งลูกไม่ได้พบในชีวิตจริงเท่านั้น

(เช่นสอนให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ โดยไม่ได้บอกว่าผู้ใหญ่ที่ว่านั้นคือผู้ใหญ่ในอุดมคติ ไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในชีวิตจริงซึ่งลูกจะได้พบในภายหน้า)

ผลก็คือคนไทยเข้าคนเก่ง แต่ไม่ค่อยมีศักยภาพที่จะฝืนกลุ่ม หรือแตกต่างจากกลุ่ม กลัวเชย กลัวตกรุ่น กลัวผู้ใหญ่ไม่มอง กลัวไม่มีเพื่อน กลัวไปเสียหมดทุกอย่าง และคนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจปัจเจกชนนิยมแต่เพียงว่า "ทำได้ตามใจคือไทยแท้"

โรงเรียนก็ไม่ได้แก้อะไรในเรื่องนี้ ยิ่งตอกย้ำการทำลายปัจเจกภาพ (individuality) ของเด็กลง จนกระทั่งยกพวกตีกัน, นุ่งสั้น, เดินห้าง, นุ่งกางเกงเอวต่ำ ฯลฯ เหมือนกันไปหมด

ปัจเจกที่เคารพตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างมีเหตุผล แต่เข้ากับคนอื่นได้ โดยไม่มีปัญหา เป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ควรเกิดขึ้นตามสังคมปัจเจกชนนิยม แต่เราผลิตมนุษย์พันธุ์ใหม่อย่างนี้ไม่ได้ เราจึงเปลี่ยนมันเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นด้วยอำนาจ, เงินตรา หรือชื่อเสียงเกียรติยศ เพราะถ้าได้เครื่องมือสามอย่างนี้แล้ว ถึงจะแตกต่างอย่างไร ก็จะได้รับการยอมรับจากคนไทยอย่างดีเสมอ