Monday, May 09, 2005


คนไทยขี้อิจฉา


ครูฝรั่งของผมคนหนึ่งซึ่งศึกษาชาวนาไทยเคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า คนไทยนั้นขี้อิจฉา

แน่นอน ผมย่อมแปลกใจ แต่ไม่ใช่แปลกใจที่คนไทยขี้อิจฉาในสายตาฝรั่ง แต่แปลกใจว่า อ้าวแล้วฝรั่งไม่ขี้อิจฉาบ้างหรือ

อันที่จริงในประสบการณ์ส่วนตัว ผมไม่เคยพบการอิจฉาริษยาของใครเลย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือไทย นอกจากของตัวเอง

คืออย่างนี้นะครับ คงไม่มีใครอธิบายการกระทำของตัวว่ามาจากความอิจฉา ฉะนั้นทุกครั้งที่เราพบใครอิจฉาใคร ที่จริงแล้วเป็นคำอธิบายของเราเองต่อพฤติกรรมของเขาต่างหาก เราจะรู้จักความอิจฉาที่จริงได้ก็ต่อเมื่อมันเกิดในใจเราต่างหาก เราก็อาจบอกตัวเองไม่ให้ดังพอที่คนอื่นจะได้ยินว่า เออกูอิจฉามันว่ะ

ผมคิดว่าความอิจฉาเป็นความรู้สึกที่อยู่ลึก กว่ามันจะโผล่พ้นขึ้นมาเหนือสำนึกได้ มันคงถูกปรุงแต่งบิดเบี้ยวไปเพราะใครๆ ก็ถูกสอนมาว่าความอิจฉาเป็นสิ่งไม่ดี ฉะนั้น จึงหาแรงจูงใจอื่นที่ดูดีกว่าทับถมลงไปจนแม้แต่ตัวเองอาจไม่สำนึกก็ได้ว่านี่คือความอิจฉา

ฉะนั้น จึงไม่น่าสงสัยอะไรที่ข้อสังเกตของครูฝรั่งผมคงมาจากการตีความของท่านเอง ในฐานะนักมานุษยวิทยา (โดยเฉพาะสายที่สนใจศึกษาบุคลิกภาพเสียด้วย) ท่านมีหน้าที่ให้ความหมายแก่พฤติกรรมของคนที่ท่านศึกษา แล้วท่านก็คงอธิบายพฤติกรรมของคนไทยหลายประการว่ามาจากความอิจฉา

ความอิจฉาย่อมเกิดจากใจที่ไม่อยากเห็นคนอื่น "ได้ดี" ไปกว่าตัว แต่ "ได้ดี" เองก็มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ใครจะนึกว่า "ดี" คืออะไร เช่น ได้ทรัพย์สมบัติ, ได้ชื่อเสียงเกียรติยศ, ได้เมียสวย, ได้ความนิยมของคนหมู่มาก ฯลฯ

ส่วนที่เขาได้นั้น เขาสมควรจะได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะแล้วแต่ใครจะวิเคราะห์เอาเอง คนอิจฉาที่ไหนๆ ก็ย่อมคิดเหมือนกันว่าเขาไม่สมควรจะได้

ในฐานะคนที่ยังตัดความอิจฉาริษยาออกไปจากใจไม่ได้หมด ผมจะไม่พูดอะไรเกี่ยวกับความอิจฉามากไปกว่านี้ล่ะครับ

แต่ผมอยากจะพูดว่า ไม่ว่าในสังคมใดหรือในยุคสมัยใด คนไม่เคยเสมอภาคกันจริงในทุกเรื่อง ฉะนั้นย่อมมีบางคน "ได้ดี" กว่าคนอื่นเป็นธรรมดาเสมอ ในวัฒนธรรมของชุมชนในประเทศไทย เขาจัดการกับความรู้สึกอิจฉาริษยาอย่างไร

ผมคิดว่าในวัฒนธรรมชุมชนแต่ก่อนนี้ มีกลไกทางสังคมบางอย่างที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดจากความแตกต่างทางสังคม เพราะแม้ในชุมชนเกษตรกรรมยังชีพ ก็ยังมีความแตกต่างของสถานะทางเศรษฐกิจ, การเมือง และเกียรติยศอยู่นั่นเอง

เช่นคนมีที่ดินไม่เท่ากัน กลุ่มตระกูลที่ย้ายมาลงหลักปักฐานในหมู่บ้านก่อนคนอื่น มักเป็นตระกูลใหญ่ จับจองที่ดินไว้มาก เป็นเหตุให้มีสถานะทางการเมืองสูงกว่าชาวบ้านทั่วไป เช่นสืบทอดตำแหน่งนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน สืบมาในสายเครือญาติ แม้แต่สมภารของวัดประจำหมู่บ้านบางแห่ง ยังสืบสายเครือญาติมาจนถึงปัจจุบันด้วยซ้ำ

แต่ในท่ามกลางความแตกต่างทางสถานภาพเช่นนี้ มีกลไกทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้คนจนพอเอาตัวรอดไปได้หลายอย่าง เช่นในภาคเหนือ มักมีพื้นที่ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ "หน้าหมู่" หรือเป็นสมบัติของชุมชน ซึ่งชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน สามารถเอาไปใช้เพาะปลูกได้

ในภาคอีสาน พื้นที่บุ่งทามก็เป็นเหมือนพื้นที่ "หน้าหมู่" มีหน้าที่อย่างเดียวกัน

จริงอยู่ คนรวยก็มีสิทธิ์ใช้พื้นที่เหล่านี้เหมือนกัน และมักใช้อย่างได้กำไรมากกว่าคนจนด้วย แต่อย่างน้อยคนจนก็พอมีรูหายใจ คือพอมีข้าวไว้กรอกหม้อไปจนครบปีได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสมบัติสาธารณะอีกหลายอย่าง เช่น ปลาในห้วยหนองคลองบึง พืชผักผลไม้และสัตว์ในป่า บรรดาสิ่งทั้งหลายซึ่งมีมาเองตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครไปลงแรงปลูกสร้างขึ้น ย่อมถือเป็นสมบัติสาธารณะของชุมชนทั้งสิ้น

ความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจทิ่มตำให้ผู้คนเจ็บปวดก็จริง แต่ไม่แหลมคมเกินไปนัก เพราะอย่างน้อยก็พอดิ้นรนเอาตัวรอดไปได้ ยอมรับว่าแข่งเรือแข่งพายพอได้ แต่จะไปแข่งวาสนาบารมีนั้นทำไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในชุมชน คือการที่คนรวยคนจน (หรือคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ) จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน แม้เป็นความสัมพันธ์ที่ (ถ้าใช้มาตรฐานการแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดเป็นเกณฑ์) ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ แต่ก็มีความผูกพันที่มีอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันอยู่ในนั้นด้วย

อีกทั้งยังมีพิธีกรรมอีกหลายอย่างที่ช่วยดึงเอาผู้คนที่มีความแตกต่างนี้ลงมายืนในพื้นที่เสมอภาคกันได้เป็นครั้งคราว เช่นแห่นางแมวขอฝน ก็เป็นพิธีกรรมที่ตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ให้ความเคารพต่อความแตกต่างทางสถานภาพลงเสีย ในบางท้องที่ งานสงกรานต์ ก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน

ในภาคเหนือ มีประเพณี "ทานทอด" คือทอดผ้าป่าโดยเฉพาะอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่คนจน โดยทำเหมือนทอดผ้าป่าให้สงฆ์ คือแอบเอาของเหล่านั้นไปวางใกล้ที่อยู่ของคนจน แล้วส่งสัญญาณให้เขามาเอาไป โดยผู้ให้หลบไปเสียไม่ให้เห็นหน้า

มองจากแง่บุคคล แต่ละคนพอจะหาที่ยืนในชุมชนได้ เพราะเกณฑ์ของสถานภาพไม่ได้ผูกติดกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น คนจนแต่บังเอิญเชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาล ก็อาจเป็นหมอยาที่ได้รับความนับหน้าถือตา หมอผีก็เหมือนกัน หรือพายเรือเก่ง ไปจนถึงเป็นหมอลำได้ดี เป็นศิษย์โนราดัง เป็นต้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จนแล้วมีเกียรติก็ได้ มีอำนาจก็ได้ เพียงแต่เป็นอำนาจในบางกรณี ความมีหน้ามีตาถูกกระจายออกไปยังคนนานาประเภทในชุมชน

แต่กลไกทางวัฒนธรรมเหล่านี้สิ้นสลายลง หรือเปลี่ยนความหมายไปเสียมากแล้ว ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่นำสังคมไทยมาสู่สังคมสมัยใหม่

ความแตกต่างทางสถานภาพนานาประการนำเอาความเจ็บปวดมาทิ่มแทงผู้คนให้บาดลึกลงไปในบุคลิกภาพ ผู้คนจึงมองการ "ได้ดี" ของคนอื่นด้วยความสะดุ้งหวั่นไหวว่า สถานภาพของตัวยิ่งตกต่ำลงไปกว่าเดิมเมื่อคนอื่นกระเถิบสูงขึ้น ยากที่จะให้รู้สึก "พลอยยินดี" ไปกับเขาได้

ครูฝรั่งของผมเข้ามาทำงานเกี่ยวกับชาวนาไทยแถบบางชัน ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่คืบ ชุมชนกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สถานภาพและความผูกพันที่เคยมีมากำลังแปรเปลี่ยนไป ถ้าแถบบางชันเคยมีสมบัติสาธารณะใดๆ มาก่อน ก็กำลังร่อยหรอลง เพราะคนมือยาวกว่าเข้าไปช่วงชิงใช้สอยแต่ผู้เดียว หรือเสื่อมสภาพเพราะไม่มีการบำรุงรักษา

ในสภาพอย่างนี้แหละครับที่ผมคิดว่า นักมานุษยวิทยาอาจตีความพฤติกรรมของผู้คนได้ว่าขี้อิจฉา คือไม่อยากเห็นใคร "ได้ดี" ไปกว่าตัว

และในภายหลัง สภาพอย่างนี้ไม่ได้เกิดที่บางชันแห่งเดียว แต่ระบาดไปทั่วประเทศไทย ฉะนั้นถ้าพูดถึงความใจแคบของคนอันเกิดจากการที่ถูกพรากจากความสัมพันธ์ในชุมชน กลายเป็นปัจเจกที่ไร้ความมั่นคงใดๆ ในชีวิต ว่าคือความขี้อิจฉา เราก็อาจพูดได้ว่าคนไทยขี้อิจฉากระมัง

อันที่จริง กลไกทางวัฒนธรรมที่ผมยกมากล่าวข้างต้นล้วนทำงานไม่ได้ผลไปแล้วทั้งนั้น เพราะเมื่อเป็นกลไก มันก็ต้องทำงานโดยอิงอาศัยกัน จะหยิบเอาบางชิ้นส่วนขึ้นมาให้ทำงานเหมือนกันย่อมไม่ได้

ผมมีกรณีตัวอย่างที่เคยได้ฟังจากนักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่ง คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

ท่านเล่าด้วยความสลดใจว่า ท่านเองมีส่วนสำคัญในการทำลายบารมีของผู้นำสลัมคนหนึ่งลงโดยไม่ได้ตั้งใจ เรื่องของเรื่องก็คือ มีองค์กรอะไรอันหนึ่งเอาผ้าห่มไปแจกชาวสลัมผ่านผู้นำคนนั้น ท่านผู้นำก็โชคร้ายที่มาพบท่านอาจารย์อคินเสียก่อนจะได้แจกผ้าห่ม

ท่านผู้นำถามท่านอาจารย์ว่าจะแจกอย่างไรดี เพราะมีไม่ครบคน ในฐานะนักเรียนอังกฤษนะครับ ท่านอาจารย์อคินก็แนะนำว่า ควรแจกตามความจำเป็น คือใครจนไม่มีผ้าห่มก็ควรแจกคนนั้น

ด้วยความสนิทสนมและเคารพนับถือกันมานาน ท่านผู้นำก็เชื่อจึงแจกผ้าห่มตามหลักสังคมนิยมเฟเบียนเป๊ะเลย

ผลก็คือ เหล่าบริวาร โดยเฉพาะที่เป็นมือขวามือซ้ายของผู้นำพากันโกรธเคืองลูกพี่อย่างไม่เคยมาก่อนเลย รองหัวหน้าซึ่งเคยเป็นมือขวาบ่นให้ท่านอาจารย์อคินฟังว่า ผมกับมันร่วมหัวจมท้ายกันมาตลอด ช่วยเหลือเป็นธุระของมันมาทุกอย่าง ดูสิ แทนที่จะแจกผ้าห่มให้ผม กลับเอาไปแจกคนอื่นหมด ไม่แจกผมเลยสักผืน

ตั้งแต่นั้นมาก็เลิกนับถือเป็นลูกพี่อีกต่อไป

ท่านอาจารย์อคินสรุปว่า หลักสังคมนิยมเฟเบียนใช้กับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่ได้ เพราะคนควรเข้าถึงทรัพยากรตามลำดับความสัมพันธ์ในโครงสร้างของการอุปถัมภ์ ไม่ใช่ความจำเป็นในชีวิต

อย่าลืมนะครับว่า ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์คือการแลกเปลี่ยน ฉะนั้น การอดผ้าห่มจึงเท่ากับโดนโกง ไม่ใช่เรื่องที่ไม่รู้จักการเสียสละให้แก่คนที่ขาดแคลน นั่นมันเรื่องทำบุญ คนละเรื่องกัน

ความเข้าใจของท่านอาจารย์อคินต่อกรณีนี้คงใช่แน่ แต่ผมอดตะขิดตะขวงใจไม่ได้ว่า แล้วในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ของไทยนั้นไม่มีการจัดการให้ทรัพยากรถึงมือคนที่เข้าไม่ถึงเลยหรือ นอกจากต้องเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์เท่านั้น ถ้าอย่างนั้น คนที่มีอยู่แล้วมิยิ่งมีกันมากขึ้นจนล้นเหลือหรือ

ผมคิดในใจของผมเองว่า สมมติว่าลูกพี่เชื่อท่านอาจารย์อคิน แต่ใช้วิธีดำเนินงานอีกอย่างหนึ่ง คือประชุมสมุนของตัว บอกหลักการให้ทราบ แล้ววานให้สมุนชั้นนำของตัวนำผ้าห่มไปแจกแทน ก็จะไม่มีใครกบฏต่อลูกพี่

ไม่ใช่เพราะสมุนต่างพากันโกงด้วยการเก็บผ้าห่มไว้เองโดยไม่แจกนะครับ แต่เป็นเพราะลูกพี่เปิดโอกาสให้สมุนได้ใช้ทรัพยากรผ้าห่มไปขยายเครือข่ายอุปถัมภ์ของตัวเอง พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ถึงแม้สมุนจะไม่ได้ผ้าห่มไว้เอง แต่ก็ได้สร้างบารมีของตัวกับชาวบ้าน ถ้าพูดภาษาชาววัดก็คือ ได้ร่วมทำบุญจนได้หน้าไม่น้อยไปกว่ากัน

ทุกคนได้หมด รวมทั้งสังคมนิยมเฟเบียนด้วย

แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยกลไกทางวัฒนธรรมอีกหลายอย่างในชุมชนซึ่งผู้นำเข้าไม่ถึงเสียแล้ว