Monday, May 09, 2005

ดุสิตธานี

(ถ้าจำไม่ผิด) เมื่อตอนที่ผมสอบเข้าจุฬาฯ และสอบออกจากจุฬาฯ ผมเจอข้อสอบประวัติศาสตร์ไทยเดียวกันอยู่ข้อหนึ่ง

นั่นก็คือพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมีส่วนอย่างไรในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทย

ผมคิดว่าผมทำได้ดีทั้งตอนขาเข้าและขาออก เพราะผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ จึงได้เห็นแนวคิดอย่างนี้แพร่หลายในหนังสือประวัติศาสตร์มานานแล้ว ทั้งความคิดนี้ยังถูกตอกย้ำระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ฉะนั้น จึงน่าจะยิ่งทำได้ดีขึ้นไปอีกตอนขาออก

ไม่ใช่เพียงเพราะผมคุ้นเคยกับแนวคิดอย่างนี้เท่านั้นที่ทำให้ผมทำข้อสอบได้ดี แต่เพราะอีตอนนั้นผมก็เชื่ออย่างนี้จริงๆ เสียด้วย จึงสามารถเขียนคำตอบได้อย่างเมามัน

แม้เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้เชื่ออย่างนี้อีกแล้ว แต่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้เคยผ่านกระแสเชี่ยวกรากของแนวคิดอย่างนี้มาในอดีต จึงทำให้เข้าใจนักการเมืองในปัจจุบัน ที่สถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไว้ที่หน้ารัฐสภา และพากันไปถวายสักการะในวันที่ 24 มิถุนายน ทุกปี โดยแทบจะไม่มีใครนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์เลย

ก็นักการเมืองไม่ได้มีอาชีพทางประวัติศาสตร์เหมือนผม เขาจึงไม่จำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์มากไปกว่าที่ได้เคยเรียนมา อีกทั้งการเชื่อมต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบที่มาหลังจากนั้น ยังทำให้วิถีการเมืองของแต่ละคนราบรื่นดี และในความเป็นจริงก็มีอะไรที่เชื่อมต่อกันมากระหว่างสองระบอบนี้จริงๆ เสียด้วย

เพียงแต่ไม่อาจเรียกสิ่งนั้นว่าประชาธิปไตยได้เท่านั้น

หนึ่งในสิ่งที่เป็น "ประจักษ์พยาน" ขอบการวางรากฐานประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือดุสิตธานี (ที่ไม่เกี่ยวกับโรงแรม) ผมอยากพูดถึงดุสิตธานีเพราะมันสะท้อนอะไรที่ผมกล่าวข้างต้นนั้นได้ชัดเจนดีที่สุด

ยิ่งกว่านี้ดุสิตธานียังเป็นกรณีของการ "ลากเข้าความ" ที่หน้าตาเฉยที่สุด ของบรรดาประจักษ์พยานทั้งหลายซึ่งใช้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างดุสิตธานี ไม่มีใครพูดหรือคิดว่าดุสิตธานีเป็นบทเรียนประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่ของข้าราชการสำนักคิดว่า "ในหลวง" ท่านโปรดเล่นเมืองตุ๊กตา

แม้จะเรียกว่า "เล่น" แต่ดูจะวิจิตรพิสดารกว่าการเล่นของคนทั่วไป นับตั้งแต่ "เมืองตุ๊กตา" นั้น ไม่ได้ทำอย่างหยาบๆ แต่ย่อส่วนตึกรามบ้านช่องและถนนหนทางอย่างประณีต ยิ่งกว่านั้นยังเปิดรับสมัครราษฎรของเมืองในหมู่ข้าราชบริพาร พร้อมทั้งจัดการปกครองอย่างเทศบาลนครของยุโรป ซึ่งทำให้มีการเลือกตั้งคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ "นคราภิบาล"

รวมทั้งมีการประชุมของผู้แทนเพื่อออกกฎระเบียบสำหรับใช้ในเมืองตุ๊กตานี้ด้วย

ไม่ว่าเมืองนี้จะชื่ออะไร และจำลองนครยุโรปมาได้ใกล้เคียงอย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นเมืองตุ๊กตาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันไม่ "จริง"

ไม่ใช่ไม่ "จริง" เพราะเข้าไปอาศัยหลับนอนในนั้นไม่ได้ หรือเข้าไปทำมาหากินเลี้ยงชีพในนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ "จริง" ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเมืองนั้นไม่ได้ตัดขาดออกไปจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยภายนอกดุสิตธานี

แน่นอนว่า ไม่มีใครลืมหรอกว่าเอดิเตอร์ของดุสิตสมิตนั้นไม่ใช่ราษฎรสามัญ แต่คือพระเจ้าอยู่หัวในสังคมข้างนอกซึ่งชีวิตจริงของทุกคนยืนอยู่ตรงนั้น

ไม่มีใครลืมว่านคราภิบาลคือเจ้าพระยายมราช รวมทั้งไม่ได้ลืมความสัมพันธ์ที่เป็นจริงระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระเจ้าอยู่หัวในสังคมนอกดุสิตธานี

ทุกคนในดุสิตธานีล้วนสำนึกได้ดีว่าของจริงของแต่ละคนคืออะไร และด้วยเหตุดังนั้นความสัมพันธ์ในดุสิตธานีจึงเป็นแค่ของหลอก

ฉะนั้น ราษฎรของดุสิตธานีทุกคนจึงรู้ดีว่า "ฟรี เปรส" (Free Press) ของดุสิตธานีนั้นใครฟรี และแต่ละคนพึงฟรีได้แค่ไหน


เช่นเดียวกับการอภิปรายในสภานคราภิบาล ความเห็นของราษฎรในเรื่องภาษี หรือประสิทธิภาพของการทำงานของคณะผู้ปกครอง ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ "การปกครองตนเอง" เป็นไปได้มากกว่า "ตุ๊กตา" ย่อมมีไม่ได้ในดุสิตธานี

อันที่จริง อาจไม่จำเป็นจะต้องพูดอะไรกันให้มากความเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันของเมืองตุ๊กตากับประชาธิปไตย ถ้าเราสำนึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความที่พยายามชี้ให้เห็นอย่างตรงๆ เลยว่า เมืองไทยนั้นไม่อาจใช้ระบบรัฐสภาได้

นอกจากเจ้าจะใช้เงินเข้าสู่สภาแล้ว ในสภานั้นเองก็จะตีกันวุ่นหรืออภิปรายเลอะเทอะจนไม่ได้สาระอะไร เก็บการบริหารรัฐกิจไว้กับ "มืออาชีพ" ดีกว่า

ถ้าจะมีพระราชประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดกับเมืองตุ๊กตานี้มากกว่าเรื่องทรงพระสำราญ ก็เป็นการฝึกการบริหาร หรือความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือการฝึกให้ข้าราชการ โดยเฉพาะที่เป็นข้าราชบริพารใกล้ชิด สามารถประสานงานกันเพื่อภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความร่วมมือกันเพื่อการประสานงาน (Coordination) เป็นจุดอ่อนของระบบราชการสมัยใหม่ไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงสถาปนาขึ้นมาแต่แรกแล้ว

ความแตกร้าวชิงดีชิงเด่นกันอย่างหนักในหมู่เสนาบดีซึ่งมีหลักฐานอ้างถึงไว้หลายแห่ง เป็นเพียงปลายยอดของปัญหาเท่านั้น

เพราะที่จริงแล้ว แม้ในหมู่ข้าราชการระดับล่างลงมา ก็พากันยึด "สังกัด" มูลนายของตนอย่างเหนียวแน่น และมุ่งจะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของกรมหรือกระทรวงที่ตนสังกัดมากกว่ามุ่งไปที่ภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นพระบรมราโชบาย

ในปลายรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดที่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมร่วมกับเสนาบดีลาออกประท้วงพระเจ้าอยู่หัวกันเลย

ผมไม่แน่ใจว่า ดุสิตธานีต้องการฝึกการบริหารแบบใหม่อย่างนี้จริงหรือไม่ เพียงแต่ว่าถ้าจะพยายามมองหาจุดประสงค์อื่นให้ได้แล้ว อย่างมากที่สุดก็เป็นได้แค่การปฏิรูประบบราชการเท่านั้น

และการปฏิรูประบบราชการไม่ได้เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับการวางรากฐานประชาธิปไตย คนที่อยู่ภายใต้ผู้ว่าซีอีโอในปัจจุบันก็คงเข้าใจดี

แนวคิดเรื่องดุสิตธานีคือการสอนประชาธิปไตยแก่คนไทยนั้น เพิ่งมาโฆษณากันหลัง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธีของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ในการตอบโต้กับการเถลิงอำนาจของคณะราษฎร (และคณะอะไรอื่นๆ ซึ่งตามมา)

นั่นก็คือการเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายสนับสนุนและปกป้องประชาธิปไตย ยิ่งกว่ากลุ่มอะไรอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎร, คณะรัฐประหาร, คณะทหาร, หรือ คณะปฏิวัติ ฯลฯ ซึ่งผลัดกันเข้ามาถืออำนาจทางการเมืองของไทย

พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของ ร.7 ที่ทรงประกาศว่ายินดีจะสละพระราชอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ให้แก่คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเอาไปถือเป็นส่วนตัว ทำให้คณะราษฎรกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไป

จากนั้นเป็นต้นมา ระบบการเมืองไทยก็กลายเป็นเผด็จการในรูปต่างๆ ตลอดมาเป็นส่วนใหญ่ จึงยิ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่ "แรง" ไม่น้อยไปกว่าพานรัฐธรรมนูญ

คนที่จะเข้ามาเป็นราษฎรของดุสิตธานีได้นั้น ไม่ใช่คนไทยธรรมดา นอกจากข้าราชบริพารแล้วก็มีคหบดีบางคนที่ได้เข้าไปอยู่ด้วย แต่ดุสิตธานีไม่มีสามัญชนคนธรรมดา

ใน ร.6 สามัญชนคนธรรมดาไม่ใช่คนที่ไร้หน้าตาเสียทีเดียว ถ้าเรากลับไปดูฎีการาษฎรที่ถวายความเห็นหรือร้องเรียนแก่ราชสำนัก หรือกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์ของสมัยนั้น จะเห็นได้ว่าสามัญชนคนธรรมดานั้นมีความเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่คนเหล่านี้ไม่มีที่ของตนในดุสิตธานีเพราะดุสิตธานีไม่ใช่แบบจำลองของสังคมไทย ถ้าจะมีเวทีของการต่อรองเกิดขึ้นในดุสิตธานี เวทีนั้นก็เป็นเพียงเวทีของคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ เท่านั้น

อันที่จริงการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างคนมีอำนาจนั้นเป็นปรกติธรรมดาของโครงสร้างอำนาจทั้งหลาย เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดในโครงสร้างนั้นจนตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้

ประชาธิปไตยไทยหลัง 2475 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือเวทีเกี้ยเซี้ยระหว่างใครก็ตามที่ทะลุขึ้นมาอยู่ในวงของอำนาจได้ ไม่ได้รวมประชาชนส่วนใหญ่เอาไว้


ฉะนั้น จึงน่าจะเรียกว่าประชาธิปไตยไทยว่าประชาธิปไตยแบบดุสิตธานี

พูดอย่างนี้แล้ว ผมกลับต้องเปลี่ยนความคิดไป เพราะจริงนั่นแหละดุสิตธานีวางรากฐานประชาธิปไตยนี่หว่า