Tuesday, May 10, 2005

Fundamentalism - ศาสนาวิบัติ ? (3)

ความนำ

ในสองบทความก่อนผมพยายามอธิบายถึง "ลัทธิถอยหลังเข้าคลอง" (Fundamentalism) ของชาวคริสต์บางกลุ่มในสหรัฐอเมริกา, ว่ามันอันตรายมากเพียงใดทั้งต่อคริสต์ศาสนาขนานแท้และต่อสันติสุขของโลกทั้งหมด

แต่ผมเขียนแคบไป ที่จริงทุกศาสนา, ไม่ว่าเป็นคริสต์, ยิว, มุสลิม, ฮินดู, พุทธ, หรือแม้กระทั่งขงจื๊อ, เต๋า และชินโต, ล้วนแต่อาจจะถูกดูดลงไปในกระแสน้ำวนที่เรียกว่า Fundamentalism หากมีปัจจัยปรุงแต่งพร้อม

ปัจจัยหลักๆ ของ Fundamentalism ไม่ได้อยู่ที่ศรัทธามั่นคง (Firm Faith), ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-Confidence) หรือความภาคภูมิใจ (Amour Propre), หากเกิดจากความคลอนแคลน(Uncertainty), ความรู้สึกว่าถูกไล่ให้อยู่สุดขอบ (Marginalisation) และ แปลกแยก (Alienation)

ศาสนาวิบัตินี้ยังมีความคล้ายคลึง (และอาจจะผูกโยง) กับความคลั่งชาติ คนที่รักชาติอย่างปกติย่อมมีความมั่นใจว่า "ชาติ" นั้นมั่นคงดีงามอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องเต้นเป็นแร้งเป็นกาอวดอ้างความวิเศษของชาติหรือชวนกันดูถูกโกรธแค้นชาติอื่น

มีแต่คนตกใจกลัว ขาดความมั่นใจเท่านั้นที่จะรณรงค์ให้ใครๆ "รักชาติ" กัน และชวนให้มองคนภายนอกว่าเป็น "ปีศาจ"

ใครสนใจเรื่องนี้จริงๆ น่าจะอ่านหนังสือ The Battle for God (สงครามแย่งชิงพระผู้เป็นเจ้า) ของ Karen Armstrong, Random House, N.Y., 2000

ในหนังสือเล่มนี้ Armstrong ได้อธิบายประวัติความเป็นมาของลัทธิ "ถอยหลังเข้าคลอง" ในศาสนายิว, มุสลิมและคริสต์อย่างละเอียดถี่ถ้วนเกินที่คนไทยคงอยากรู้, แต่หลักการใหญ่ๆ ของท่านมีประเด็นน่าสนใจดังนี้ :-

ว่าโดยทั่วไปแล้ว Fundamentalism ที่เรากำลังประสบทุกวันนี้เป็นของใหม่จริง เพราะเป็นการโต้ตอบกับกระแสสมัยใหม่ (Renaissance, Enlightenment, การปฏิวัติอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน) ตลอดหลายพันปีมา ศาสนา, ประเพณี และสังคมคืออันเดียวกัน แม้จะมีการปฏิรูป/ปฏิวัติเป็นครั้งคราว, แต่โดยทั่วไปศาสนาเป็นหลักความคิดความประพฤติสำหรับทุกคนในสังคมที่ไม่ต้องสงสัยและไม่มีใครทักท้วง

แต่ใน 400 ปีที่ผ่านมา ศาสนาค่อยๆ ถอยจากความเป็นเสาเอกของสังคมไปอยู่ชายขอบ บางคนยังยึดมั่นในศาสนาอย่างจริงจัง, แต่สังคมโดยทั่วไปห่างเหินศาสนายิ่งนับวันยิ่งมาก เจ้านายอาจจะอ้างอิงศาสนาเพื่อรองรับสิทธิอำนาจของตน ชนชั้นกลางยังไปวัดไปวาเพื่อแสดงฐานะ "ผู้ดี" ของตน, และคนกรรมาชีพหลายคนยึดศาสนาเป็นยาบำบัดความทุกข์ยาก

แต่ในปัจจุบัน ชาวโลกจำนวนมหาศาล (ทั้งในตะวันตกและตะวันออก) เห็นศาสนาว่าหมดน้ำยา ไม่มี "คำตอบ" ที่น่าพึงใจ หลายคนจึงละจากศาสนาโดยไม่รู้ตัว, คิดแต่จะหาผลประโยชน์และความสำราญ ส่วนคนที่มีความสำนึกนอกโลกีย์, ก็แสวงหา "คำตอบ" นอกศาสนา เช่น ในสังคมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, จิตวิทยา และสุนทรียศาสตร์ (Aesthics) เป็นต้น

กระบวนการนี้ทั้งหมดเรียกว่า Secularism ที่ยังไม่มีศัพท์ไทยบัญญัติ แต่ผมขอเสนอคำ "อศาสนาวิถี" ซึ่งเป็นกลาง, คือไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้านศาสนา (ขออธิบายเพิ่มเติมเมื่อพูดถึงตะวันตกโดยเฉพาะข้างหน้า)

สรุปเบื้องต้น


Secularism ก่อให้เกิดกระบวนการโต้ตอบในรูป Fundamentalisms ต่างๆ นานาอย่างสับสน, ซับซ้อนและกำกวมอย่างยิ่ง อย่างเช่นบางกระบวนการมีความซื่อสัตย์สุจริตอยากรื้อฟื้นคำสอนและวิถีชีวิตของพระศาสดาอย่างแท้จริงบริสุทธิ์ใจ แต่บางกระบวนการมีความประสงค์แอบแฝง เช่น อยากใช้ศาสนาแย่งชิงสิทธิ์อำนาจกันเองบ้าง, รักษาผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง, หรือแผลงฤทธิ์ให้ปราบปรามฝ่าย "อธรรม" ซึ่งอาจจะหมายถึงใครก็ได้ที่ไม่ถูกคอกัน

Armstrong ให้ตัวอย่างความซับซ้อนและสับสนดังนี้ :-

กรณีย์ชาวยิว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2, รัฐอิสราเอลถูกตั้งขึ้นมาเป็นบ้านเมืองของชาวยิว, เป็นรัฐศาสนา (Secular State) โดยมองข้ามประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ, เศรษฐกิจและศาสนาที่มีมาเป็นพันๆ ปีในแดนนั้น ที่จริงมหาอำนาจตะวันตกไม่ได้ก่อตั้งรัฐอิสราเอลเพราะสงสารชาวยิว, แต่เพราะเขาต้องการฐานทัพถาวรข่มขู่บรรดารัฐมุสลิมในตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าของแหล่งน้ำมัน

ดังนั้น ชาวยิวเกิดมี Fundamentalism สองกระแสที่ตรงกันข้ามกัน :-

กระแสหนึ่ง ว่า "เราคือชาติที่ถูกเลือกสรร (Chosen People) และนี่คือแผ่นดินที่พระเป็นเจ้าสัญญาว่าจะมอบให้ (Promised Land) ชาวยิวถูกเนรเทศและรังแกมา 2,000 ปี, บัดนี้ถึงตาชาวยิวจะรังแกเขามั่ง" นี่คือต้นตอสงครามกลางเมืองระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น

อีกกระแสหนึ่ง ว่า "รัฐอิสราเอลปัจจุบันเป็นเมืองบาป เมืองปลอม เพราะมนุษย์สถาปนาด้วยความรุนแรง ตามพระคัมภีร์มีแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจะส่งพระมหาไถ่ (Messiah) มารื้อฟื้นอิสราเอล (แท้) ด้วยเมตตาปรานีและความยุติธรรม"

ยิว Fundamentalist กระแสนี้ {(Neturey Karta) pic.post, Jan.10} เรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์และประท้วงการกระทำของสหรัฐและรัฐบาลอิสราเอลตลอดเวลาทั่วโลก, แต่เราไม่ค่อยได้ยินได้เห็นเพราะไม่ต้องใจประเทศมหาอำนาจ

กรณีชาวมุสลิม ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มหาอำนาจตะวันตก ตระหนักว่า "น้ำมันดิบ" เป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพเหนือไม้และถ่านหินที่เคยใช้มาก่อน, จึงเริ่มใคร่จะควบคุมแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมัน (ที่ครองตะวันออกกลางส่วนใหญ่) เข้าข้างเยอรมัน พอชนะสงครามอังกฤษและฝรั่งเศสก็เข้าไปกินซากและแบ่งเขตอำนาจกัน บางแห่งเข้าไปยึดครองโดยตรง, บางแห่งเชิดหุ่นเจ้านายพื้นเมืองบังหน้า

ดังนี้ ชาวมุสลิมตะวันออกกลางเกิดความผิดหวังและคับแค้นหลายชั้นซับซ้อนและสับสนกัน, เช่น

- โลกมุสลิมเคยนำโลกทางศิลปวิทยาและการค้า, แต่ถูกตะวันตกแซงหน้าจนตนล้าหลัง

- ถูกตะวันตกรังแกและปล้นสะดมโดยตรง

- ถูกผู้นำพื้นเมืองขายตัวช่วยรังแกและปล้นสะดม

ดังนี้ ชาวมุสลิมจึงมีปฏิกิริยาเกิด Fundamentalism อย่างน้อยสองกระแส :-

กระแสหนึ่ง ว่า "เราต้องรื้อฟื้นชีวิตอันดีงามที่สอนในอัล"กุหร่าน, พร้อมทั้งเรียนรู้ศิลปวิทยาตะวันตกโดยไม่รังเกียจ" ตัวอย่างกระแสนี้คือ ท่าน Abdurrahman Wahid, อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, ที่ประพฤติสำรวมตามหลักอิสลามอย่างเคร่งครัดแต่ไม่บังคับใครให้เคร่งตาม, เป็นปัญญาชนใจกว้างและมีเมตตาต่อคนทุกฝ่าย Fundamentalism มุสลิมกระแสนี้มีแพร่หลายมาก, แต่ดูเหมือนจะโด่งดังและมีประสิทธิผลน้อยกว่า

กระแสที่สอง คือ Fundamentalism มุสลิมชนิดที่นิยมความรุนแรงและเกิดจากความแค้นหลายประการดังกล่าวมาแล้ว ที่กระแสนี้อ้างคำสอนและความประพฤติในพระคัมภีร์นักหนา, จะผิดหรือถูกอย่างไรผมวิจารณ์ไม่เป็นเพราะไม่มีความรู้

ที่กระแสนี้เห็นโลกเป็นขาว-ดำ ผมไม่เห็นด้วย, แต่ที่เคียดแค้นต่างๆ นั้น ผมวิจารณ์ไม่ได้อีกเพราะเห็นว่าฝ่ายรุนแรงมีเรื่องที่สมควรจะเคืองอย่างยิ่ง

กรณีชาวคริสต์ เรื่องนี้ผมเขียนมามากแล้ว ว่าโดยสรุปชาวคริสต์ มี Fundamentalism สองกระแสเช่นกัน :-

กระแสหนึ่ง มุ่งรื้อฟื้นความดีงามของพระศาสดาในพระวรสาร (Gospels) โดยเน้นเมตตาธรรมและการถ่อมตัวรับใช้เพื่อนมนุษย์, มีทั้งในนิกายโปรเตสแตนต์และคาทอลิก โดยมากเรียกกระบวนการนี้ว่า Evangelical

อีกกระแสหนึ่ง อ้างพระคัมภีร์สนับสนุนความรุนแรงและความแตกแยกในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสงคราม, มองโลกว่า ขาว-ดำ (เราดี-เขาชั่ว) ทั้งภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ Fundamentalism กระแสร้ายนี้ชั่วเป็นพิเศษ เพราะไม่มีชื่อเฉพาะออกหน้า, แต่แอบแฝงกับ Fundamentalist กระแสดีๆ จนจับเป็นตัวเป็นตนได้ยาก

มันกลายเป็นอุดมการณ์ของทำเนียบขาวสนับสนุนการรุกรานทำสงครามตามใจชอบ, จึงอาจจะพาคริสต์ศาสนาทั้งหมดให้หมองไปด้วย

ความสรุป

ทุกศาสนา ทั้งยิว, มุสลิม และคริสต์ ต่างมี Fundamentalism ที่น่าเคารพ, คือการรื้อฟื้นความดีงามของศาสดาดังปรากฏในพระคัมภีร์ แต่พอ Fundamentalism นั้นๆ ถูกลักพาโดยคนคลั่งชาติ, คลั่งผลประโยชน์ และคลั่งอื่นๆ ก็กลายเป็นเครื่องมือของปีศาจแท้ๆ และดูเหมือนจะพาโลกให้ฉิบหายจนได้

ปัญหาของโลกปัจจุบันคือ Fundamentalism ดีๆ มีเสียงน้อยและดูเหมือนไม่มีประสิทธิผล, ในขณะที่ Fundamentalism ร้ายๆ กำลังดังสนั่นและเป็นตัวกำหนดอนาคตของโลก

คนหวังดีต่อโลกย่อมไม่นิยมความรุนแรง, แต่นายบุช, แบลร์, ชารอน และ บิน ลาเดน, น่าจะยิ้มกัน, ตบมือกัน, กะพริบตากันและปรารภพร้อมๆ กันว่า "ความรุนแรงช่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลจริงๆ ! พวกเรียกร้องความยุติธรรม, เมตตาธรรมและสันติภาพ ต่างล้วนเป็นเด็กอมมือที่ไม่รู้เรื่องโลกแห่งความเป็นจริง"

แล้วพวกเราที่หวังดีต่อโลกจะโต้ตอบกับมันอย่างไรดี ?

ท่านผู้อ่านช่วยกันคิด